โรคจอประสาทตาเสื่อม คือ อะไร
โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในบริเวณจุดศูนย์กลางรับภาพของจอประสาทตา โรคนี้มักพบได้มากในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จึงเรียกว่า Age-related macular degeneration (AMD) ในผู้ป่วยบางราย การเสื่อมของจอประสาทตา เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนผู้ป่วยอาจไม่ทันสังเกตเห็น ในขณะที่ บางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามโรคนี้จะทำให้สูญเสียการมองเห็นโดยเฉพาะ ภาพตรงกลาง แต่ผู้ที่เป็นจะยังสามารถมองเห็นทางด้านขอบข้างของภาพได้อยู่ เช่น มองเห็นคน แต่ส่วนของใบหน้าเบลอมองเห็น ไม่ชัด ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้ยังคงสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่อาจทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า ได้ลำบาก
โรคจอประสาทตาเสื่อมมีกี่ชนิด
จอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
I. แบบแห้ง (Dry AMD) พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการเสื่อมสลายและบางลงของจุดศูนย์กลางรับภาพของจุดรับภาพ (Macula) จากการเสื่อมตามอายุ (Aging) ทำให้เห็นเป็นภาพเบลอ
II. แบบเปียก (Wet AMD) สาเหตุเกิดจากการที่มีเส้นเลือดที่ผิดปกติงอกอยู่บริเวณใต้ชั้นจอประสาทตา เส้นเลือดเหล่านี้แตกง่าย ทำให้เกิดเลือดออก ผู้ที่เป็นจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และมีความรุนแรงมากกว่าแบบแห้ง (Dry AMD)
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ เช่น คนที่มีสายตาสั้นมากๆ หรือคนที่เป็นโรคติดเชื้อบางอย่าง แต่สาเหตุส่วนใหญ่แล้วมักพบในผู้สูงอายุ จึงทำให้เชื่อว่าเป็นกระบวนการเสื่อมสภาพของร่างกายเป็นสาเหตุสำคัญ
ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Aged related macula degeneration) ได้แก่
· อายุ จอประสาทตาเสื่อมพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
· พันธุกรรม แพทย์แนะนำให้ผู้ที่มีประวัติครอบครัวหรือญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ เข้ารับการตรวจเช็คจอประสาทตาทุก 1 ปี
· เชื้อชาติและเพศ พบอุบัติการณ์ของโรคจอประสาทตาเสื่อมมากในคนผิวขาว เพศหญิง และอายุมากกว่า 60 ปี
· บุหรี่ มีการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน
· ความดันโลหิตสูง คนไข้ที่ต้องรับประทานยาลดความดันเลือด มีระดับของไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูง และระดับแคโรทีนอยด์ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม แบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว (Wet AMD)
· วัยหมดประจำเดือน พบว่าผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจน จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
นักวิจัยยังคงเชื่ออีกว่าการขาดวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซีและอี หรือเกลือแร่ที่มีส่วนสำคัญในการมองเห็น อาทิเช่น แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ลูทีน (Lutein) และซีแซนเทียม (Zeaxanthium) ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด AMD ได้อีกด้วย
อาการของ AMD เป็นอย่างไร
โรคจอประสาทตาเสื่อม อาจมีอาการแตกต่างกันในผู้ที่เป็นแต่ละรายและยากที่จะสังเกตความผิดปกติในช่วงแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี คนไข้อาจไม่สังเกตถึงความผิดปกติไปหลายปี แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปรกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว
อาการของ Dry AMD มักจะยังไม่มีอาการใดๆมากนัก
อาการของ Wet AMD คือ เริ่มเห็นเส้นตรงเป็นเส้นโค้ง บิดเบี้ยว เห็นภาพสีซีดจางกว่าปกติ และอาจเห็นเป็นจุดมืดดำที่ตรงกลาง
อาการเริ่มแรกที่อาจนำไปสู่การเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่
· มองเห็นภาพเบลอ
· เห็นเส้นตรงเป็นเส้นโค้ง
· ภาพมีสีซีดจางไป
· อ่านหนังสือได้ลำบาก
· แยกแยะหน้าคนได้ยาก
· เห็นเป็นจุดดำที่บริเวณศูนย์กลางของภาพ
แนวทางในการวินิจฉัย
โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นความผิดปกติที่ผู้ที่เป็นสังเกตอาการด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มแรกได้ยาก ดังนั้นการตรวจพบและให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะเมื่อจอประสาทตาเริ่มเสื่อมแล้ว มีแต่จะเป็นมากขึ้น การรักษาในปัจจุบันจึงทำได้เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมเสียของจอประสาทตาให้ช้าที่สุดเท่านั้น
· การตรวจสายตาด้วย Amsler grid test ถ้าคนไข้มองเห็นภาพที่ Amsler grid ผิดปรกติไป จะต้องพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจจอประสาทตาทันที
· การตรวจหาความผิดปกติที่จอประสาทตาด้วยการใช้กล้องตรวจ biomicroscope (Opthalmoscopic examination) และตรวจพิเศษด้วยการฉีดสีถ่ายภาพ (Fluorescein angiography) หรือตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical coherence tomography) เพื่อดูลักษณะและขอบเขตความผิดปรกติที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยในการกำหนดแนวทางในการรักษาและทำนายการดำเนินโรค
ปกป้องดวงตาจาก AMD
แม้เราไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นได้ แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาและการดำเนินการของโรคได้ เช่น
· เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้จอประสาทตามีโอกาสเสื่อมได้เร็วขึ้น
· สวมแว่นตากันแดด เมื่อต้องออกกลางแจ้ง เพื่อป้องกันแสงแดดที่จ้าและรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อตา
· รับประทานผักและผลไม้มากๆ โดยเฉพาะผักใบเขียว ซึ่งอุดมด้วยวิตามินและเกลือที่จำเป็นต่อการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย เช่น วิตามินซีและอี
· ลดการรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลหรือไขมันอิ่มตัวสูงๆ
· หมั่นตรวจเช็คสุขภาพดวงตาเป็นประจำสม่ำเสมอ
การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม
การักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)
การเสื่อมของจอประสาทตาจะเป็นไปอย่างช้าๆ ดังนั้นผู้ป่วยยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อาจมีการให้ยาเพื่อบำรุงจอประสาทตา การรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) ทำได้หลายวิธี ได้แก่
· การรักษาด้วยเลเซอร์ การฉายแสงเลเซอร์ลงบนจอประสาทตาส่วนที่มีพยาธิสภาพ จะยับยั้งหรือชะลอเส้นเลือดผิดปรกติที่ทำให้เกิดเลือดออกใต้จอประสาทตาได้
· การฉีดยาเข้าในตา ซึ่งจะไปช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก
· การผ่าตัด Submacular surgery เป็นการผ่าตัดเพื่อทำลายหรือนำเส้นเลือดที่ผิดปรกติออกจากใต้จอประสาทตา รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะเลือดออกใต้จอประสาทตา ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยเป็ฯที่นิยมทำกันแล้ว
การดูแลตัวเอง เมื่อเป็นจอประสาทตาเสื่อม
· หมั่นตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำสม่ำเสมอ แม้วินิจฉัยว่าเป็นจอประสาทตาเสื่อม เพราะในบางรายที่เป็น Dry AMD อาจพัฒนากลายเป็น Wet AMD ดังนั้นเมื่อพบอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณควรรีบปรึกษาแพทย์
· ท่านอาจพก Amsler grid ไว้ที่บ้านเพื่อทดสอบสายตาของตนเองได้
· หากมีภาวะจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว ท่านควรพยายามปรับตัวกับภาวะสายตาเลือนลางให้ได้ และหัดใช้เครื่องมือช่วยการมองเห็น (Low vision aid) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถใช้การมองเห็นที่เหลืออยู่ ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างดีที่สุด